ทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชราควรได้รับการตรวจสุขภาพ หากทำอย่างถูกต้องตามหลักการจะทำให้อาจค้นพบโรคที่ซ่อนอยู่ และยังสามารถหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถหาทางป้องกันและรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที เมื่อทราบผลการตรวจสุขภาพ หากพบความผิดปกติก็จะเป็นต้องทำการรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่มีความแม่นยำมากขึ้นในการวินิจฉัยโรค ได้รับคำแนะนำและการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องโดยแพทย์/บุคลากรสาธารณสุข เพื่อการรักษาและควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
การตรวจสุขภาพสำหรับกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น โดยการนัดเด็กมาตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อตรวจร่างกายทั่วไป ประเมินการเจริญเติบโต และติดตามเฝ้าระวังด้านพัฒนาการเป็นระยะๆ ตามแนวทางในคู่มือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กเล่มสีชมพู ค้นหาและป้องกันภาวะซีด ให้วัคซีนต่างๆ ตามกำหนดเวลา แนะนำการเลี้ยงดู การส่งเสริมทักษะสำคัญและสุขนิสัยที่ดี การป้องกันอุบัติเหตุ
- อายุแรกเกิด - 7 วัน หากคลอดที่โรงพยาบาล นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว แพทย์จะประเมินภาวะตัวเหลือง เจาะเลือดตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ให้วัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดู การกินนมแม่ และการป้องกันอุบัติเหตุ
- อาย 0-6 เดือน ควรได้รับการตรวจประเมินการได้ยิน 1 ครั้ง ในทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดอาจมีความผิดปกติของการได้ยินซ่อนเร้นอยู่โดยผู้ที่มีความผิดปกติไม่ได้สังเกต ทำให้มีผลต่อพัฒนาการ การสื่อสาร กาเรียน การทำงาน และการเข้าสัคมได้
- อายุ 6-12 เดือน
- เมื่อฟันซี่แรกขึ้น เริ่มตรวจสุขภาพช่องปาก โดยทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลเรื่องฟันผุ แผ่นคราบฟัน สีของฟัน สุขภาพเหงือกและภาวะเหงือกอักเสบหรือไม่ (กรณีที่ยังไม่ได้ตรวจแนะนำให้ไปตรวจภายในช่วง 1-2 ปี)
- ตรวจคัดกรองภาวะตาเหล่ ตาเข ในเด็กเล็กอาจมีความผิดปกติของตาที่พ่อแม่อาจไม่ได้สังเกต หากปล่อยปละละเลยอาจทำให้สายตาพิการได้ ในเด็กโตอาจมีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ส่งผลต่อการเรียนได้
- ตรวจข้อสะโพก เพื่อดูภาวะข้อสะโพกหลุด
- ตรวจความผิดปกติของอวัยวะเพศ
- ควรได้รับการตรวจวัดระดับความเข้มข้นเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตเหล็ก อย่างน้อย 1 ครั้ง การตรวจร่างกายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยภาวะซีดในเด็กซึ่งต้องเจาะเลือดตรวจภาวะซีด ส่งผลต่อการเจริญเติบโต สมองและการเรียนรู้ ที่สำคัญคือเป็นโรคที่รักษาได้ ดังนั้นการให้ข้อมูลและการตอบแบบสอบถามอย่างถูกต้องช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำให้บุตรหลานท่านได้รับการช่วยเหลือและดูแลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ทันท่วงที
- อายุ 2-4 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองพัฒนาการ 1 ครั้ง (1 ใน 4 ของเด็กไทยอายุ 5 ปีมีพัฒนาการล่าช้า พ่อแม่ควรประเมินพัฒนาการเด็กเป็นระยะด้วยตัวเองโดยใช้สมุดบันทึกสุขภาพเด็ก เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจะเรียนหนังสือไม่ดี พ่อแม่อย่าลืมร้องขอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจคัดกรองพัฒนาการ)
- อายุ 3-6 ปี
- ควรได้รับการตรวจวัดสายตา 1 ครั้ง และติดตามเป็นระยะ (ถ้าไม่ตรวจวัดสายตา ก็ไม่รู้ปัญหา ซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก)
- ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต และติดตามเป็นระยะ
- ควรได้รับการตรวจวัดระดับความเข้มข้นเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กอีก 1 ครั้ง
- ควรได้รับการทดสอบการได้ยินโดยวิธีการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ถูกันเบาๆ ห่างจากรูหูประมาณ 1 นิ้ว ปีละ 1 ครั้ง
- อายุ 8,10 ปี และช่วงอายุ 11-14, 15-18 ปี ควรได้รับการตรวจวัความดันโลหิตและวัดสายตาช่วงอายุละ 1 ครั้ง (สายตาผิดปกติในเด็กวัยเรียนพบได้ 2-4%)
- อายุ 11-18 ปี สำหรับผู้หญิง ควรได้รับการตรวจวัดระดับความเข้มข้นเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก อีก 1 ครั้ง
- วัยเรียน ควรได้รับการประเมินและคำแนะนำด้านการเรียน ความรับผิดชอบ การเล่นและการใช้เวลาว่าง และการปรับตัวในโรงเรียน (ร้อยละ 37 ของเด็กวัยเรียนมีปัญหาทางจิตใจ สังคม พฤติกรรมและการเรียนรู้ การคัดกรองหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้เร็วจะช่วยเด็กและวัยรุ่นให้พัฒนาการต่อไปได้ดี
- วัยรุ่น ควรได้รับการประเมินพฤติกรรมเสี่ยง (เพศ บุหรี่ สุรา ยาเสพติด) และคำแนะนำเรื่องเพศศึกษา ความปลอดภัยในการเดินทาง และสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และวัยรุ่น