1. ตา
ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนประมาณ 10% จะมีโรคทางตาหรือความสามารถในการมองเห็นลดลงซ่อนเร้นอยู่ สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด ได้แก่ โรคต้อหิน โรคต้อกระจก ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม และภาวะสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีต้อหิน ส่วนหนึ่งมักจะมาพบแพทย์ต่อเมื่อสายตามัวลงมากแล้ว จนไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ ถ้าสามารถได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก อาจป้องกันภาวะตาบอดได้ ส่วนต้อกระจก ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม และภาวะสายตาสั้นหรือยาวผิดปกตินั้น อาจทำได้คร่าวๆ โดยการวัดสายตา โดยให้ผู้สูงอายุอ่านภาพตัวอักษรที่ห่างออกไป 6 เมตร ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปยังจักษุแพทย์ต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ในการปฎิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน การขับรถ การรับประทานอาหาร การหยิบยารับประทาน อุบัติเหตุพลัดตก หกล้ม เป็นต้น และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงควรแนะนำให้ผู้สูงอายุตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ โดยทีมจักษุแพทย์ อายุ 60-64 ปี ควรตรวจทุก 2-4 ปี และตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติ สามารถวินิจฉัยได้เร็ว และทำการรักษาได้ทันท่วงที
2. ฟัน
ผู้สูงอายุมากกว่า 50% ที่อยู่ในชุมชน มีโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่ซ้อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินไปมาเองได้ หรือมีฐานะยากจน โรคที่พบบ่อยได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก และปัญหาหลักในผู้สูงอายุยังคงเป็นการสูญเสียฟัน ผู้สูงอายุ 60-74 ปี ร้อยละ 88.3 มีการสูญเสียฟันบางส่วน และร้อยละ 7.2 สูญเสียฟันทั้งปาก และการสูญเสียฟันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอายุ จนเมื่ออายุ 80-89 ปี พบสูญเสียฟันทั้งปากสูงถึงร้อยละ 32.2 ดังนั้น การตรวจคัดกรองหรือรับบริการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นในการลดการเกิดโรคและการสูญเสียฟัน ผู้สูงอายุจึงควรไปตรวจสุขภาพช่องปากและฟันจากทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
3. แบบประเมินสุขภาพ
- กระดูกพรุนเป็นโรคที่พบมากที่สุดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี พบในเพศหญิงร้อยละ 33 และเพศชายร้อยละ 20 โรคกระดูกพรนเป็นภัยเงียบ หากจะเปรียบกับโรคความดันโลหิตสูงซึ่งจะมาพบแพทย์ก็เมืื่อเกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตันไปแล้ว ในขณะที่โรคกระดูกพรุนจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดภาวะกระดูกหัก กล่าวคือโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการหรือสัญญาณใดๆ บอกเตือนก่อน ผู้ป่วยจึงไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในช่วงแรกๆ ของการดำเนินโรค จนกรทั่งเกิดภาวะกระดูกหักตามมา และปัจจุบันในการตรวจสุขภาพสามารถประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โดยใช้แบบประเมิน OSTA (Osteoporosis Self-assessment Tool for Asians) index เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป
- โรคซึมเศร้าพบได้บ่อยมากในประชากรทั่วไป และพบว่าโรคซึมเศร้ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมากกว่า ร้อยละ 90.1 โรคซึมเศร้าพบได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากในผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก ลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า พบได้ทั้งอาการในระยะเฉียบพลัน หรือรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการซึมเศร้า หรือความรู้สึกเบื่อ หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ ร่วมกับอาการสำคัญอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ รู้สึกไร้ค่า และมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง ซึ่งบางรายมีภาวะซึมเศร้ารุนแรงจนถึงขั้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นในการตรวจสุขภาพจึงมีการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าชนิด 2 คำถาม (Two-questions-screening test for depression disorders)
- ภาวะสมองเสื่อม ไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ระุ 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม มีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมแนะนำวิธีเลี่ยงสมองเสื่อมด้วยการดูแลควบคุมภาวะความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงสารเสพติด และทำกิจกรรมที่มีการฝึกสมองสม่ำเสมอและไม่เคร่งเครียดเกินไป จากการสำรวจความชุกของภาวะสมองเสื่อมในประชากรทั่วโลก พบว่า คนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม 5-8% ส่วนคนที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 20% และผู้ที่มีอายุมากเกิน 90 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้นถึง 50% ซึ่งพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมมากกว่าเพศชาย ดังนั้น เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ควรประเมินด้วยแบบการประเมินสมรรภภาพสมองด้วยเครื่องมือแบบ modified IQCODE (Informant Questionnaire on Cognitive Decline in the Elderly) เป็นแบบคัดกรองภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น
4. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
ภาวะซีด (anemia) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั้งในชุมชนและโรงพยาบาล อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ประเทศไทยพบผู้สูงอายุที่มีภาวะซีดอยู่ระหว่างร้อยละ 16.5-62.61 ภาวะซีดจากการขาดสารอาหารพบมากที่สุดคือการขาดธาตุเหล็ก รองลงมาคือ การขาดโฟเลตและวิตามินบี 12 ซึ่งโฟเลตและวิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นที่ร่างกายต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและการดูดซึม กล่าวคือต้องใช้ฟันปลอมในการบดเคี้ยวอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือก ทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก รับประทานอาหารได้น้อยลงในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 60.7) โดยในผู้สูงอายุชายและหญิงมีความชุกใกล้เคียงกัน โดยในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 94.6 ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ทุกปี เพื่อคัดกรองภาวะซีด