อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งในประชากรทั่วไป และในผู้มีโรคประจำตัว เมื่อมีอาการก็จะทำให้กังวลใจถึงสาเหตุร้ายแรงต่าง ๆ ที่อาจเป็นต้นตอของการปวดศีรษะ ก่อนอื่น เรามาแยกหมวดอันตรายและไม่อันตรายเพื่อคลายกังวลกันครับ
อาการปวดศีรษะชนิดปฐมภูมิ (Primary Headache) เป็นจำพวกที่อันตรายน้อยกว่า หมายถึงอาการปวดศีรษะที่ไม่ได้มีสาเหตุอันตรายอื่น ๆ สามารถแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่
1. ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่ปวดบริเวณขมับทั้งสองข้างสมมาตรกัน ปวดบีบ ๆ และไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมส่วนใหญ่การปวดศีรษะประเภทนี้มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อส่วนบ่า ไหล่ ลำคอตึงตัว จึงพบบ่อยในวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานอย่างไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานาน ไม่ยืดเหยียดขยับร่างกาย ซึ่งหากแก้ไขที่สาเหตุ ป้องกันการเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น เลิกนั่งนาน ยืดเหยียด ออกกำลังกาย นั่งทำงานให้ถูกท่า อาการปวดศีรษะอาจหายขาดได้
2. ปวดศีรษะแบบไมเกรน (Migraine Headache) ในเด็กและวัยรุ่น หากมีอาการมักปวดศีรษะทั้งสองข้าง ส่วนในผู้ใหญ่ สองในสามจะปวดศีรษะข้างเดียว อีกหนึ่งในสามอาจปวดทั้งสองข้างหรือปวดรอบศีรษะทั้งหมด ลักษณะคือค่อย ๆ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดตุบ ๆ อาจมีอาการนานตั้งแต่สี่ชั่วโมงจนถึงสามวันเลยทีเดียว และสามารถมีอาการร่วมเช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดมากขึ้นเมื่อแสงจ้า หรือมีอาการนำ เช่น ได้กลิ่นประหลาดก่อนเริ่มปวดศีรษะ
3. ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวเสมอ และมักเริ่มจากบริเวณรอบดวงตาหรือขมับ เมื่อเริ่มแล้วจะปวดรุนแรงภายในเวลาอันสั้น อาจกินเวลาสิบห้านาทีถึงสามชั่วโมงจึงจะหายไปเอง อาการร่วมที่เป็นไปได้คือ น้ำตาไหล ตาแดง จมูกตันหรือน้ำมูกไหล เป็นต้น
การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการปวดศีรษะชนิดปฐมภูมิ สามารถทำได้ตั้งแต่การทานยาแก้ปวดเช่นพารา หรือยากลุ่มแก้อักเสบ แต่หากไม่ดีขึ้น หรือสงสัยไมเกรน คลัสเตอร์ สามารถพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาและลดอาการได้ในระยะยาวครับ