• เด็กปฐมวัยไทยวันนี้ มีปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึง 30 %
  • สาเหตุที่เด็กมีพัฒนาการล่าช้านั้น ส่วนใหญ่พบว่า “เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม” รวมทั้งสาเหตุที่เลี่ยงได้ยากอย่าง เช่น เกิดจากโรคทางพันธุกรรม 4 กลุ่มโรค 1)โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder: ADHD)  2)โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorders: LD)  3)โรคบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities: ID)  4)โรคออทิสติก (Autistic Disorders)  ภาวะขาดออกซิเจนช่วงคลอด ภาวะติดเชื้อในครรภ์มารดา หรือภาวะขาดสารอาหาร
  • ทางพัฒนาการของเด็กแต่เนิ่นๆ จะทำให้เด็กได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม เด็กที่ถูกตรวจพบร้อยละ 90 สามารถกลับมาเป็นปกติได้

 

คนไทยมีคำขวัญวันเด็กกันทุกปี และมีสโลแกนที่ได้ยินกันมาตลอดว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ”

                แต่จากข้อมูลที่เกิดขึ้นช่างเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า เด็กปฐมวัยไทยวันนี้ กำลังมีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ ล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึง 30 %

            หันไปดูข้อมูลจากคนนอกประเทศดูบ้าง แต่ก็ยิ่งช้ำใจหนักขึ้น เมื่อตอนที่ได้ยินยูนิเซฟออกมาแถลงปาวๆ ว่าเด็กบ้านเราที่มีช่วงอายุต่ำกว่าห้าขวบ 1 ใน 6 ในประเทศไทย ยังมีภาวะเตี้ยแคระเกร็น แกร็น เด็กไทยครึ่งประเทศมีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึงสามเล่ม และมีพ่อเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ

            เกิดอะไรขึ้นกับทรัพยากรบุคคลที่ต้องเรียกได้ว่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติในวันข้างหน้า แต่เด็กไทยวันนี้ประมาณ 10-15 % ของเด็กชั้น ป.3 และ ป.6 กำลัง “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น” แถมพัฒนาการที่มีความล่าช้ามากที่สุด คือ พัฒนาการทางด้านภาษา (ร้อยละ 23.7) ทั้งๆ ที่เป็นพัฒนาการด้านที่จะมีความสัมพันธ์กับความสามารถทางสติปัญญา รองลงมาคือพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ

            นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจระดับสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) ของเด็กนักเรียนในระดับประเทศ พบว่ามีค่าเท่ากับ 98.59 ซึ่งถือเป็นค่าสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ “ค่อนไปทางต่ำ” โดยเฉพาะเมื่อเทียบสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กในประเทศเอเชียอีกหลายๆ ประเทศ เช่น สิงค์โปร์ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น

            ส่วนพัฒนาการทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ (Executive Functions: EF) ของเด็กวัย 2-6 ปี ก็มีแต่ตัวเลขที่บ่งชี้ว่ากำลังบกพร่องไปหมดทั้งด้านความจำ ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเล่นกับเพื่อน การเคารพกติกาส่วนรวม และปัญหาการควบคุมอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลด้านลบต่อความพร้อมและความสำเร็จทางการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป

            พูดถึงตรงนี้หลายคนอาจจะแอบอุทานในใจ “ทำไมเป็นอย่างนั้นละ” ซึ่งคงต้องอธิบายกันแบบสั้นๆ แค่พอเข้าใจไว้ก่อนว่า สาเหตุที่เด็กมีพัฒนาการล่าช้านั้น ส่วนใหญ่พบว่า “เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม” รวมทั้งสาเหตุที่เลี่ยงได้ยากอย่าง เช่น เกิดจากโรคทางพันธุกรรม 4 กลุ่มโรค 1)โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder: ADHD)  2)โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorders: LD)  3)โรคบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities: ID)  4)โรคออทิสติก (Autistic Disorders) ภาวะขาดออกซิเจนช่วงคลอด ภาวะติดเชื้อในครรภ์มารดา หรือภาวะขาดสารอาหาร เป็นต้น

            แต่อ่านแล้วอย่าเพิ่งตกอกตกใจกันไปใหญ่โต เพราะทุกวันนี้เราพบว่า การตรวจพบความผิดปกติทางพัฒนาการของเด็กแต่เนิ่นๆ สามารถแก้ไขได้โดยการให้เด็กได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา เด็กที่ถูกตรวจพบว่ามีพัฒนาการล่าช้าแต่เนิ่นๆ ร้อยละ 90 สามารถกลับมาเป็นปกติได้ คงเหลือเพียงอีกร้อยละ 10 ที่อาจมีปัญหาอื่นๆ เช่น ออทิสติกหรือปัญหาด้านการเรียนรู้ ซึ่งก็สามารถส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการรณรงค์ ให้พ่อแม่พาลูกน้อยวัย 0- 6 ปี ไปตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย พร้อมทั้งสามารถขอรับ “คู่มือเฝ้าระวังส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM)” ได้ที่สถานบริการของรัฐใกล้บ้าน หรือดาวน์โหลดด้วยตนเองได้ที่ http://thaichilddevelopment.com/ (สถาบันพัฒนาการราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต)หรือที่http://nich.anamai.moph.go.th/download/DSPM/DSPM60_V2.pdf เพื่อนำไปประเมินและทราบถึงวิธีการฝึกทักษะให้กับลูกน้อยตามวัยได้อย่างเหมาะสม

 

การตรวจพัฒนาการเด็ก จะดูความสามารถหลักๆ 5 ด้าน ได้แก่

  1. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการยืน เดิน วิ่ง 
  2. การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการหยิบจับรวมถึงสติปัญญา หมายถึง การทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา การเคลื่อนไหวร่างกาย และการแก้ไขปัญหา
  3. ความเข้าใจด้านภาษา หมายถึง การได้ยิน และความเข้าใจภาษาที่คนอื่นสื่อสาร
  4. การใช้ภาษา หมายถึงการพูด ถ่ายทอด หรือบอกเล่าสิ่งที่ตนเองคิด
  5. การช่วยเหลือตนเองและสังคมโดยรวม หมายถึง การมีความสัมพันธ์และใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ กับการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวัน

คู่มือเฝ้าระวังนี้ นอกจากจะเป็นตัวช่วยบอกเตือนพ่อแม่ ที่อาจจะได้พบเห็นว่าลูกของตนเอง มีด้านใดด้านหนึ่งไม่เป็นไปตามวัย อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กอาจมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งในคู่มือก็ยังบอกวิธีกระตุ้นพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัยไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งครอบคลุมเด็กทุกคน ทุกสิทธิ ผู้ปกครองเฝ้าระวังเด็กที่เริ่มมีปัญหาพัฒนาการ ก็จะได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการตามวัย รวมทั้ง ส่งตัวให้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและฟื้นฟูพัฒนาการต่อไป แต่ถ้าหากพบว่าเด็กไม่ได้มีพัฒนาการล่าช้า นอกจากจะเพิ่มความสบายใจแล้ว ยังสามารถทราบถึงลำดับขั้นพัฒนาการถัดไปของเด็ก เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการเล่นกับลูกได้อีกด้วย

หากสนใจนำบุตรหลานไปตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาล/สถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์

  1. http://www.anamai.moph.go.th (กรมอนามัย)
  2. http://www.childrenhospital.go.th (สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)
  3. http://thaichilddevelopment.com/ (สถาบันพัฒนาการราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต)
  4. http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)
  5. http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์)