- เด็กไทยแรกเกิดทุกๆ 1 พันคน จะมีเด็กที่ถูกตรวจพบว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ประมาณ 1 ถึง 3 คน
- ในเด็กที่ไม่สามารถได้ยินได้เทียบเท่ากับบุคคลที่มีความสามารถในการได้ยินปกติ จะมีผลต่อการพูดและพัฒนาการทางภาษา ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ความจำ พฤติกรรม การพัฒนาทางอารมณ์และสังคม
- การตรวจ “การได้ยิน” นั้น สามารถที่จะตรวจได้ทันทีภายใน 15 นาทีนับจากแรกเกิด ซึ่งหากยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร จะทำให้เด็กได้รับการรักษาและฟื้นฟูการได้ยินอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
การตรวจ “การได้ยิน” นั้น สามารถที่จะตรวจได้ทันทีภายใน 15 นาทีนับจากแรกเกิด ซึ่งหากยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร จะทำให้เด็กได้รับการรักษาและฟื้นฟูการได้ยินอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
เดินผ่านบ้านไหนแล้วได้ยินเสียงหัวเราะรอดรั้วออกมา มีทั้งเสียงคุณตาคุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ แข่งกันเรียกความสนใจจากลูกน้อย พอเจ้าหนูหันไปยิ้มให้ทางไหน ทางนั้นก็เฮ หันมาทางนี้ ทางนี้ก็ชื่นใจ ทำให้บรรยากาศแห่งความรักในครอบครัว ตลบอบอวลไปทั้งบ้าน
แต่ถ้าบ้านไหนเรียกแล้วลูกน้อยไม่หัน แถมยังไม่หือไม่อือ ไม่ทำท่าเหมือนได้ยิน ตบมือก็แล้ว เปิดมือถือมาล่อซ้ายทีขวาทีแล้วก็ยังนิ่ง คราวนี้ละ คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มสีหน้าไม่สู้ดี วิตกกังวลกันไปใหญ่โต
ข้อมูลต่อไปนี้ อาจทำให้หลายบ้านหายคาใจ และรู้แนวทางที่ควรปฏิบัติ ต่อเจ้าสมาชิกตัวน้อยๆขวัญใจของคนทั้งบ้านได้ถูกต้อง
จากผลการศึกษาการได้ยินของทารกในครรภ์พบว่า โดยปกติลูกจะได้ยินเสียงตั้งแต่ตอนนอนอยู่ในครรภ์คุณแม่ ทารกสามารถกระพริบตาแสดงการตอบสนอง เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียงเพลงที่เปิดไมโครโฟนที่ติดไว้บนหน้าท้องของแม่ ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่าทารกเริ่มได้ยินเมื่ออายุประมาณ 24 สัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถจำแนกเสียงได้จนกว่าจะย่างเข้าอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พออายุครรภ์ 35 สัปดาห์ขึ้นไปทารกจะแยกเสียงต่ำและเสียงสูงได้
ซึ่งทุกเสียงที่ได้ยินเมื่อครั้งอยู่ในท้องนี้ จะไปช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมองของทารกตั้งแต่ก่อนทารกเกิด กระตุ้นปมประสาทและระบบสมองเกี่ยวกับการได้ยิน จึงไม่แปลกที่ทารกหลังคลอดจะสามารถจะจำเสียงคุ้นหูอย่างเสียงของพ่อกับแม่ได้ และช่วยให้ทารกรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้ยินยามที่ลืมตาออกมาสู่โลกกว้าง
ทางการแพทย์ถือว่า ระบบการได้ยินของทารกนั้น พัฒนาได้ก่อนการเห็นเสียอีก เมื่อคลอดออกมา การได้ยินจึงเป็นประสาทสัมผัสอีกชนิดหนึ่งที่ลูกรักวัยขวบปีแรกใช้ค่อนข้างมาก
เอาเจ้าหนูมาเช็คหูกันหน่อยจ้า
พฤติกรรมตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินของเด็กทารกที่ควรจะเป็น ดังนี้
0-3 เดือน : ลูกจะมีอาการเงียบลง หรือแสดงความสนใจ เมื่อได้ยินเสียงดัง หรือเสียงที่คุณแม่พูดคุยด้วย เริ่มจำเสียงแม่ได้ บางครั้งอาจสะดุ้งตื่น ร้องไห้ ถ้าเสียงดังเกินไป
3 -6 เดือน : เริ่มตอบสนองต่อเสียงแม่ พยายามหันมาหาเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อ แยกเสียงคนคุ้นเคยได้ว่าเสียงหวานๆ นั่นเป็นเสียงแม่ ส่วนเสียงทุ้มๆ หล่อนี่เป็นของพ่อ
6-10 เดือน : ลูกจะหันศีรษะไปหาต้นเสียงที่เขาคุ้นเคย เช่นเสียงของพ่อแม่ ลูกจะทำเริ่มทำเสียงจากลำคอ มองหาเมื่อได้ยินเสียงแปลกๆ
10-15 เดือน : ลูกเข้าใจคำว่า “ไม่” สามารถทำเสียงที่ซ้ำๆ กันได้ และก็จะเลียนแบบเสียงที่คุณแม่ทำ สามารถชี้สิ่งของที่คุ้นเคยเมื่อได้ยินคนเรียก ชอบของเล่นเขย่ามีเสียงกรุ๊งกริ๊ง
ในปัจจุบันนี้ เด็กไทยแรกเกิดทุกๆ 1 พันคน จะมีเด็กที่ถูกตรวจพบว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ประมาณ 1 ถึง 3 คน
“เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน” คือ เด็กที่ไม่สามารถได้ยินได้เทียบเท่ากับบุคคลที่มีความสามารถในการได้ยินปกติที่สามารถรับฟังเสียงด้วยหูทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่ระดับ 25 เดซิเบลขึ้นไป ทางการแพทย์จะถือว่าเป็นบุคคลที่สูญเสียการได้ยิน ซึ่งแบ่งได้หลายระดับ คือ หูตึงน้อย หูตึงปานกลาง หูตึงมาก และหูตึงรุนแรง โดยความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเกิดได้ทั้งกับหูข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
ปัญหาคือการได้ยินเป็นส่วนสำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษา มีผลกระทบต่อความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ความจำ พฤติกรรม การพัฒนาทางอารมณ์และสังคม ยังไม่นับรวมถึงเรื่องที่เด็กจะโตไปเป็นเด็กที่ขาดความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง รู้สึกแตกต่างจากเพื่อน สื่อสารกับคนอื่นไม่เข้าใจ กลัวการพูดผิด พูดไม่ชัด กระทบต่อการเรียน ตลอดจนทำให้เด็กขาดความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากไม่สามารถรับรู้สัญญาณอันตรายที่แจ้งเตือนทางเสียงได้
ถ้าบอกว่ารากฐานของต้นไม้คือราก พัฒนาการจากการได้ยินทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เป็นรากฐานสำคัญของเด็กสำหรับการเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า พ่อแม่จะสามารถตรวจพบตั้งแต่ก่อน 6 เดือน และควรจัดการแก้ปัญหาให้ลูกได้ โดยมีช่วงเวลานาทีทอง ระหว่างที่ลูกอายุแรกเกิด ถึง 6 เดือน เรียกได้ว่ายิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีที่มีโอกาสรักษาและแก้ไขได้ผลมากกว่า
การตรวจคัดกรอง “การได้ยิน” นั้น สามารถที่จะตรวจได้ทันทีภายใน 15 นาทีนับจากแรกเกิด โดยใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจคัดกรองการได้ยิน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ทั่วโลกแล้วว่า ควรดำเนินการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน เพื่อให้ได้รับการรักษาและฟื้นฟูการได้ยินอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการพูดภาษา อารมณ์ และสังคมอย่างเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
เพราะถ้ายังมัวปลอบใจกันเองว่า ลูกอาจจะเป็นเด็กพูดช้า เด็กปากหนัก หรือปล่อยปละละเลย ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสังเกต ว่าลูกมีความบกพร่องทางการได้ยินหรือไม่ บกพร่องมากน้อยเพียงใด กว่าจะมารู้ว่าหูของเจ้าหนู มีปัญหาแน่ๆ ตอนที่โตเกินจะแก้ไขอะไรได้ทันท่วงทีแล้ว ลูกก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาการทางภาษาและการพูดไปอย่างถาวร
“พาลูกไปตรวจหูเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าปล่อยให้หูไม่ดีแล้วต้องมานั่งเสียใจวันหน้า”
คุณพ่อคุณแม่สามารถไปขอรับบริการตรวจคัดกรองการได้ยินเพื่อค้นหาความผิดปกติ ได้ที่โรงพยาบาล/สถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง ซึ่งจะมีให้บริการตรวจการได้ยินด้วยเครื่องมือพิเศษ (Otoacoustic Emissions: OAE) เป็นการตรวจคัดกรองที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ขณะเข้ารับการตรวจ
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th/imrta/ รวมทั้งที่เว็บไซต์ของกรมการแพทย์http://www.dms.moph.go.th