• เด็กวัยแรกเกิดจนถึงสามขวบที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จะมีพัฒนาการด้านกระบวนการคิด ความสามารถ และความฉลาด ด้อยกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ กล้ามเนื้อตาเกร็ง ตาเข ตาเหล่ ได้อีกด้วย
  • ปัจจุบันพบว่า เด็ก ป.1 ทั่วประเทศไทยที่มีประมาณ 800,000 คน มีปัญหาสายตาต้องใส่แว่น สูงถึงประมาณ 32,000 คน 
  • วิธีสังเกตเองความผิดปกติทางสายตาของเด็ก เช่น เห็นอาการตาเข ตาเหล่ ตาไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกันตาลอย ชอบกระพริบหรือหยีตา หลีกเลี่ยงการมองไฟสว่างชอบเอียงหน้าเอียงคอเวลามอง หรือชอบดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ ปวดศีรษะหลังเลิกเรียน มีอาการคลื่นไส้เวลาใช้สายตามากๆ หรือบ่นว่ามองกระดานไม่ชัด เดินชนสิ่งต่างๆบ่อย
  • ไปตรวจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล และสถานบริการสุขภาพของรัฐ เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ประหยัด และถ้าตรวจพบทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขได้ตั้งแต่อายุน้อยๆก่อนครบ 6 ขวบปี ก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางการมองเห็นและด้านอื่นๆของเด็ก

 

 

            พอพูดคำว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” หลายคนอาจจะบอกว่าเชยจังฟังมาตั้งแต่ปีมะโว้นู้นนน แต่พอบอกว่า “ดวงตา เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็ก” หลายคนถึงได้ตื่นตาโตตั้งใจฟังกันเป็นแถว

โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยกำลังโต เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประถมวัย เรากำลังพูดถึงดวงตาของเด็ก ที่ไม่เป็นเพียงเครื่องมือในการมองเห็นเท่านั้น แต่ยังเป็นอวัยวะสำคัญที่เด็กจะใช้ การมองเห็นเป็นการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เมื่อสมองของเจ้าหนูเริ่มทำงานจับภาพและจดจำสิ่งที่เห็น ก็จะส่งผลไปถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การหยิบจับ คลาน นั่ง และเดิน ของลูกน้อย ร่างกายจะมีพัฒนาการการทำงานประสานกันของสายตาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก สามารถมองเห็นได้ไกลมากขึ้นและชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านความชัดเจนและความลึกของวัตถุ 

พอเด็กเริ่มโตพ้นขวบปีแรกในการมองเห็นของลูกน้อยก็ค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์เท่ากับกับสายตาผู้ใหญ่ตอนที่อายุครบ 6 ปี ซึ่งในระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาทอง ทุกครั้งที่ดวงตาของเด็กทำงาน สมองก็จะตอบสนองต่อการมองเห็น เกิดเป็นความสามารถในการคิดและจินตนาการตามมา

เคยมีงานวิจัยศึกษาพัฒนาการด้านความสามารถและความฉลาดในเด็กวัยแรกเกิดจนถึงสามขวบที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะพบว่ามีพัฒนาการด้านกระบวนการคิดช้า และได้ผลคะแนนระดับความฉลาดต่ำกว่าเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการได้ยินเสียอีก เนื่องจากการมองเห็นมีการทำงาน ที่ละเอียดอ่อนกว่ามากในขณะที่ประสาทตามีเส้นใยประสาท 1 ล้านเส้นใย แต่ประสาทหูจะมีเส้นใยเพียง 50,000 เส้นใยเท่านั้น

การที่เด็กมองไม่ชัดมองไม่เห็นหรือมีภาวะการมองบกพร่อง จะทำให้ระบบประสาทการมองเห็นไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ นอกจากจะส่งผลต่อกระบวนการคิดแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาอีกมาก เช่น ทำให้เกิดภาวะสายตาขี้เกียจการมองเห็นพร่ามัว ยิ่งเพ่งมากก็จะทำให้กล้ามเนื้อตาเกร็ง จนกลายเป็นตาเขตาเหล่ตามมาในท้ายที่สุด

ปัญหาสายตาผิดปกติในเด็กบางส่วนเกิดจากพันธุกรรม บางส่วนก็อาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิดหรือเสื่อมสภาพในภายหลังแต่อีกหลายส่วนก็เกิดจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยแทปเลต สมาร์ทโฟน พี่เลี้ยงเปิดทีวีให้เด็กนั่งเฝ้าหน้าจอ เด็กเล็กๆ ปัจจุบันนี้เล่นเกมในคอมพิวเตอร์อย่างคล่องแคล่วจนปู่ย่าตายายออกปากชมเปราะ

สิ่งที่ตามมาคือ เรากำลังทำให้พวกเด็กๆ รุ่นใหม่ เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาเพิ่มมากขึ้นทุกที ตัวเลขจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ปี 2554 - 2555 ระบุว่าเด็กไทยวัยประถมศึกษาในประเทศไทย มีสายตาผิดปกติ 6.6% และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตา 4.1% หรือถ้าจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป แค่เด็กป.1 ทั่วประเทศไทยที่มีประมาณ 800,000 คน ก็พบว่ามีปัญหาสายตาต้อง ใส่แว่น สูงถึงประมาณ 32,000 คน 

ทางการแพทย์ถือว่า ถ้าเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษาอย่างเหมาะสม การแก้ไขที่ทันเวลาด้วยการให้เด็กได้สวมแว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เฉลี่ยต้นทุนรายละ 700 บาทเท่านั้นก็มีประสิทธิผลในการป้องกันภาวะตาบอดและตาเลือนลางได้ ยิ่งถ้าดำเนินการแก้ไขได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ก่อนครบ 6 ขวบปี ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการทางการมองเห็นและด้านอื่นๆ ของเด็ก

บางครั้งเด็กก็จะบอกพ่อแม่ได้ยากว่าตัวเองมีปัญหาในการมองเห็น ดังนั้นพ่อแม่และผู้ปกครองจึงต้องสังเกตเองความผิดปกติของลูกด้วยตนเอง เช่น เห็นอาการตาเข ตาเหล่ ตาไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกันตาลอย ชอบกระพริบหรือหยีตา หลีกเลี่ยงการมองไฟสว่างชอบเอียงหน้าเอียงคอเวลามองหรืออ่านในกรณีเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจจะสังเกตจากดูหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ ปวดศีรษะหลังเลิกเรียน ชอบจดงานจากสมุดเพื่อนมากกว่ามองบนกระดาน มีอาการคลื่นไส้เวลาใช้สายตามากๆ หรือบ่นว่ามองกระดานไม่ชัดเดินชนสิ่งต่างๆ บ่อย ฯลฯ

แต่อีกวิธีที่แสนจะง่าย ได้ผลแม่นยำ ประหยัด ปลอดภัย คือคุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ ไปตรวจกับ บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล และสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th/imrta/  และเว็บไซต์ของกรมการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th และตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนเด็กวัยประถมสำหรับส่งต่อเข้าระบบการดูแลต่อไป

ไม่ต้องเถียงกัน ว่า “เอ๊ะ จะใช่มั้ยนะ”“พ่อว่าไม่..แต่แม่สงสัย”  รีบสบตากันปิ๊งๆ แล้วพาลูกไปตรวจก่อนพบปัญหาได้ไว รักษาได้ทันใจ ลูกจะได้ตาใสตาดี เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ตลอดไปนะ..จะบอกให้ ปิ๊งๆ (อีกที !)