- ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะทีละมากๆ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ หิวน้ำบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักลดลง คนไข้จะผอมลง อ่อนเพลีย ผิวแห้ง คันตามตัวหรืออวัยวะเพศ สายตาพร่ามัว เซื่องซึม มีอาการชาปลายมือและปลายเท้า บางรายเกิด
- กรมอนามัยระบุว่า ภายในปี 2025 หรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า 2/3 ของผู้ป่วยเบาหวาน คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- การตรวจคัดกรองเบาหวานนั้น ทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากไปรับบริการตามสถานบริการทางการแพทย์ของรัฐ และไม่จำเป็นต้องรอตรวจตอนที่อายุมาก เพราะสามารถมาตรวจได้ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคเบาหวานทุก 3 ปี
อีกแค่ 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด !”
อ๊ะ ฟังดูดีเชียว ...
เวลาได้ยินอะไรต่อท้ายประเทศไทยว่า..สุดยอดๆ ..อดภูมิใจไปด้วยไม่ได้เลย
แต่ช้าก่อน !! อย่าเพิ่งปลื้มปริ่มกันไป เพราะคำว่า “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” นั้น จริงๆแล้วหมายถึงการที่ประเทศเราไทย กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย คือการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ซึ่งสถานการณ์นี้ก็คงเป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร
สิ่งที่ตามมาติดๆ หลังการเพิ่มจำนวนประชากรรุ่นคุณตาคุณยาย ก็คือเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งกรมอนามัยเปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า ภายในปี 2025 หรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า
... 2/3 ของผู้ป่วยเบาหวาน คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป... !
“โรคเบาหวาน” ชื่อก็ออกจะ..หว้าน หวาน แต่ผลกระทบแสนขม เพราะเป็นโรคของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อาการที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ฟังดูแค่เบาะๆ ก็คือผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะทีละมากๆ เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนจนปนออกมากับปัสสาวะ มันก็ไปทำให้ร่างกายขาดน้ำ หิวน้ำบ่อย พอหิวน้ำบ่อยก็กินเก่ง แต่ยิ่งกินน้ำหนักกลับยิ่งลดลง คนไข้จะผอมลง อ่อนเพลีย แถมการขาดน้ำยังทำให้ผิวแห้ง คันตามตัวหรืออวัยวะเพศ
พอน้ำตาลในเรื่องเลือดสูงมากๆ จะมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ โดยเฉพาะหลอดเลือดฝอยในอวัยวะสำคัญ เช่น ตา ไต หัวใจ และปลายมือปลายเท้า ทั้งนี้ ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณจอประสาทตา ทำให้ตาพร่ามัวและอาจทำให้ตาบอดได้ เมื่ออาการมากขึ้นก็เริ่มเซื่องซึมลง รู้สึกตัวช้า แถมยังตามมาด้วยอาการชาปลายมือและปลายเท้า จากการเสื่อมของเส้นประสาท เมื่อผู้ป่วยมีแผล ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ตัว บางรายเน่าลุกลาม จนกระทั่งต้องตัดขา ทั้งๆ ที่เริ่มจากแผลแค่เล็กน้อย บางรายก็เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายในเวลาแค่ 3 ปี นับจากแรกเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน
พูดง่ายๆ ว่า คนไทยเรานี้พอแก่ตัวลงเมื่อไร โรคเบาหวานก็พร้อมจะมายืนรอเคาะประตูบ้านกันทันที จนบางคนเรียกโรคนี้ว่า โรคประจำตัวของผู้สูงอายุเลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน เบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพคนไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากจะเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว เบาหวานยังเป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงมากในการดูแลรักษาทั้งในระดับครอบครัวและระดับประเทศ
ที่สำคัญคือ มีผลการสำรวจพบว่า 4 ใน 10 คนของผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมาก่อน ทั้งๆ ที่การตรวจคัดกรองเบาหวานนั้น ทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากไปรับบริการตามสถานบริการทางการแพทย์ของรัฐ ซึ่งภาครัฐได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรอตรวจตอนที่อายุมาก เพราะสามารถมาตรวจได้ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคเบาหวานทุก 3 ปี
ผลการตรวจคัดกรองเบาหวาน สามารถบอกสภาวะสุขภาพได้ทันที แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ผลเลือดปกติดี ไม่เป็นเบาหวาน
- เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Plasma Glucose: FPG) อยู่ระหว่าง 100-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมน้ำหนัก มีการออกกำลังกายที่เพียงพอ ก็สามารถช่วยให้ผลเลือดกลับมาเป็นปกติได้
- เป็นเบาหวานโดยมีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Plasma Glucose: FPG) ตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกอย่างต่อเนื่อง ผลการรักษาจะดีกว่าและปลอดภัยกว่ารอให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
เรียกว่า “ตรวจก่อน - รู้ก่อน - รักษาก่อน - หายเร็วก่อน – ครอบครัวก็สบายใจ –ผู้สูงวัยก็แฮบปี้”
สนใจเป็น สว. แบบปลอดภัย ไปตรวจคัดกรองเบาหวานเสียตั้งแต่วันนี้ ที่โรงพยาบาล/สถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ต่อไปนี้
1. http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์)
2. http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)