• คนไทยจ่ายค่าตรวจสุขภาพมากกว่า 2,200 ล้านบาทต่อปี
  • การตรวจสุขภาพแบบเกินพอดี หรือการตรวจแบบเหวี่ยงแหในปัจจุบันนี้ นอกจากจะไม่ก่อเกิดประโยชน์ในการตรวจสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโทษ เช่น ทำให้ผู้ถูกตรวจชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่­ยงต่อการเกิดโรค หรือผลการตรวจบางอย่างต้องไปตรวจเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น มักทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้หากภาวะแทรกซ้อนมีความรุนแรง
  • การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น “ไม่ใช่การตรวจเพื่อมุ่งค้นหาว่าป่วยเป็นโรคอะไร” แต่ต้องเป็น “การตรวจในขณะที่ยังไม่ป่วยเพื่อเน้นหาปัจจัยเสี่ยงความเป็นไปได้ว่าอาจป่วยด้วยโรคอะไร และมีการแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมจากปัจจัยเสี่ยงนั้น” ซึ่งภายหลังการตรวจจะได้รับแนะนำให้มีการดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของแต่ละคนได้ถูกต้องต่อไป

 

ไม่รู้ใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “ตรวจสุขภาพประจำปี” ขึ้นมา เพราะนับตั้งแต่มีคำคำนี้ ดูเหมือนทุกคนที่ได้ยิน จะเข้าใจว่า “ประจำปี” คือ “ต้องตรวจเป็นประจำทุกปี” แถมกระแสโฆษณาจากสถานบริการภาคเอกชน ที่ชอบ “เรียกแขก” ด้วยแพคเกจที่ฟังดูแล้วเหมือนว่า ถ้าไม่ไปตายแหงแก๋! ถ้าไม่ตรวจมะเร็งมารอแน่ๆ !! ตรวจร่างกายได้บุญ 9 รายการ 9,999  ซื้อของขวัญให้ตัวเอง ให้พ่อแม่ ให้คนที่คุณรัก ด้วยการตรวจ 108 รายการ แค่สามหมื่นห้าเท่าน้านนนนน

บางคนรู้สึกว่า ชั้นทำหน้าที่ดูแลสุขภาพชั้นละนะ ปีละหน แค่รูดบัตรซื้อปั๊บ ก็รู้สึกเฮลท์ตี้ขึ้นมาทันที (TT” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร!) จึงไม่แปลกที่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program : HITAP) เปิดเผยข้อมูลว่า คนไทยจ่ายค่าตรวจสุขภาพมากกว่า 2,200 ล้านบาทต่อปี

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสตรวจพบโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” ขณะที่ร่างกายยังไม่มีอาการแสดงนั้น ทำให้เราสามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที ผลการรักษาก็จะดีตาม หรือรู้วิธีปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากกว่า

แต่สิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการตรวจสุขภาพ คือการตรวจแบบ “ยกเข่ง” ตามคำโฆษณาชวนเชื่อ เพราะสุขภาพของแต่ละคนนั้นมีปัญหาต่างกันออกไป เพียงแต่ควรตรวจตามความจำเป็นของแต่ละคน ขึ้นกับอายุ เพศ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรือในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค มีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

การตรวจสุขภาพเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม  จึงเป็นการตรวจที่เราควรรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าจะไปตรวจอะไรบ้าง เพราะการตรวจสุขภาพนั้นจะต้องซักประวัติ  ซึ่งจะช่วยให้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ขั้นตอนถัดไปคือการตรวจร่างกายและการตรวจแล็บ (ห้องปฏิบัติการ) เฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสมในแต่ละเพศและช่วงอายุเท่านั้น

ปัญหาของประชาชนทุกวันนี้ก็คือ มักได้รับการ “จับตรวจ” จากสถานพยาบาลที่เน้นความสำคัญกับการตรวจแล็บมากกว่าการซักประวัติเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง อาจจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือคุณหมอไม่มีเวลาคุยด้วยมากนัก แต่นั่นก็ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจภาพรวมของ “การตรวจสุขภาพ” ว่าหมายถึง “การเจาะเลือดไปตรวจ” ทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า การตรวจสุขภาพคือการตรวจหาโรคโดยตรวจแล็บเป็นหลัก และจบลงที่แจ้งผลจากหมอเท่านั้น

ในความเป็นจริงการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น “ไม่ใช่การตรวจเพื่อมุ่งค้นหาว่าป่วยเป็นโรคอะไร” แต่ต้องเป็น “การตรวจในขณะที่ยังไม่ป่วยเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงความเป็นไปได้ว่าอาจป่วยด้วยโรคอะไร และมีการแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมจากปัจจัยเสี่ยงนั้น” ผู้รับการตรวจจะได้รับแนะนำให้มีการดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ได้ถูกต้องต่อไป

การตรวจสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและเกินจำเป็น หลายโรคสามารถใช้วิธีการซักประวัติผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ อย่างโรคมะเร็งลำไส้  ถ้าในคนที่ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้ในครอบครัว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจก่อนอายุ 50 ปี แถมบางรายยังไม่ทันได้ซักประวัติถามถึงอาการ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ก็ข้ามขั้นตอน ส่งไปตรวจโดยใช้วิธีส่องกล้องเลย

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครื่องมือที่ใช้ตรวจก็ไม่ได้ให้ผลแม่นยำร้อยเปอร์­เซ็นต์อีกด้วย ซึ่งผลการตรวจที่ออกมานั้น หากตรวจแล้วพบ “ผลลบลวง” ก็จะทำให้ผู้ถูกตรวจชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่­ยงต่อการเกิดโรค ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีก หรือกรณีที่ตรวจแล้วได้ “ผลบวกลวง” ก็ต้องเจ็บตัว เพราะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก อีกทั้งการตรวจเพิ่มเติมบางอย่างเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการด้วย 

ยังมีการตรวจสุขภาพรายการขายดีอีกมาก ที่เกิดความจำเป็นสำหรับคนทั่วไป เช่น

การเอกซเรย์ปอดเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่ควรทำในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ในคนที่ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก หรือมีอาการสงสัยว่าป่วยเป็นวัณโรค หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค และมะเร็งปอด แถมยังมีโอกาสให้ผลบวกลวงค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและอาจโดนชวนให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมหนักเข้าไปอีก

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการตรวจระดับสารบ่งชี้มะเร็ง เช่น สารพีเอสเอในเลือด (PSA) ซึ่งควรตรวจให้เฉพาะผู้ที่มีอาการปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่คล่องจากภาวะต่อมลูกหมากโต และถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และการตรวจยังมีโอกาสตรวจพบ “ผลบวกลวง” ซึ่งจะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เลือดออก ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือการเสียชีวิตได้

การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด ก็ควรจะตรวจเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ข้อพิการ เพราะในผู้ตรวจบางคนที่พบว่ามีกรดยูริกในเลือดสูงแต่ไม่มีความเสี่ยงเป็นเกาต์หรือโรคนิ่ว ก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับยาลดกรดยูริก ซึ่งหากเป็นผู้ที่แพ้ยารุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การตรวจระดับบียูเอ็น (BUN) ในเลือด รายการนี้ไม่มีประโยชน์ต่อการคัดกรองภาวะไตเสื่อม ซึ่งปกติควรตรวจเพื่อประเมินภาวะการทำงานของไต สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น

การตรวจเอนไซม์ตับ เป็นรายการที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะในปัจจุบันยังไม่พบประโยชน์ในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของตับด้วยการตรวจระดับเอนไซม์ตับในเลือด

การตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เป็นรายการที่มีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรตรวจเฉพาะตรวจวัดระดับไขมันรวม (Total cholesteral) และไขมันดี (HDL) ก็เพียงพอแล้ว

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นอีกหนึ่งรายการขายดี ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนทั่วไป เพราะคุณหมอแนะนำว่าจำเป็นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวและป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เท่านั้น

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด (Tumor markers) พอได้ยินว่ามะเร็ง คนมักตัดสินใจตรวจโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าเป็นรายการตรวจที่แพทย์จะใช้ตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ เช่น เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี แต่ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองมะเร็งตับในคนปกติทั่วไป

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก“แปปสเมียร์” (Pap smear) ควรตรวจอย่างสม่ำเสมอทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 30-60 ปี

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายการ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่เกิดประโยชน์ในการตรวจสำหรับบุคลทั่วไป เช่น การตรวจค้นหาโรคไตอักเสบ การตรวจหาโรคหืดในผู้ที่ไม่มีอาการ การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ อัลตร้าซาวนด์ช่องท้อง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตรวจแบบเหวี่ยงแหทั้งสิ้น

ดังนั้นหากจะไปตรวจสุขภาพครั้งต่อไป ก็ควรเลือกตรวจเฉพาะรายการที่สำคัญและเหมาะสมกับช่วงอายุของตนเอง ไม่ต้องไปเสียเวลา เสียทรัพย์ และยังเสียกำลังใจ หากตรวจพบอะไรที่เกินความจำเป็น

สำหรับผู้สนใจอยากทราบว่า มีอะไรที่ควรตรวจสุขภาพเบื้องต้นบ้าง สามารถตรวจสอบรายสุขภาพเบื้องต้นได้ที่ http://www.healthcheckup.in.th ซึ่งนอกจากจะมีแบบทดสอบให้ทำแล้ว ยังมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับผลการทำแบบทดสอบของตัวคุณเองอีกด้วย