• การตรวจสุขภาพสำคัญสำหรับทุกคน ในผู้ใหญ่อาจจะเน้นไปที่การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวและค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง แต่กรณีของเด็กและวัยรุ่นนั้น จะเน้นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการตรวจการเจริญเติบโตของร่างกายและประเมินพัฒนาการว่าเหมาะสมและเป็นไปตามวัยหรือไม่­ เพื่อจะได้ทราบและหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการตรวจประเมินคัดกรองพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์ 3 ครั้ง   (อายุ 9, 18, 24-30 เดือน) ถ้าหากตรวจพบว่าเด็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ ก็จะทำให้ได้รับการคัดกรองและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ หรือหากิจกรรมช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงเด็กปกติได้
  • เด็กวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องฮอร์โมน ซึ่งควรได้รับการประเมินและคำแนะนำด้านการเรียน ความรับผิดชอบ การเล่น การใช้เวลาว่าง การควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการปรับตัวในโรงเรียน และการประเมินพฤติกรรมเสี่ยงด้านเพศ บุหรี่ สุรา ยาเสพติด

 

 

มีคนจำนวนมากที่เข้าใจว่า การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ คนแก่ คนที่มีปัญหาเจ็บป่วย หรือแม้แต่ในคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ

พอมีใครบอกว่า “จะพาลูกไปตรวจสุขภาพ” มักมีเสียงตั้งข้อกังขาตามมาให้ได้ยินบ่อยๆ       “ตรวจทำไม ยังเด็กอยู่เลย” “อายุแค่นี้จะมีปัญหาสุขภาพได้ไง” “ไว้รอให้โตก่อนก็ได้ม้างงง”

แหม่.. ทำยังกับว่า โรคภัยไข้เจ็บทุกวันนี้เลือกที่รักมักที่ชังกันได้ จะเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย เจ้านาย หรือลูกน้อง ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาของแต่ละช่วงวัย ให้ต้องมีการตรวจสอบแก้ไขกันทั้งนั้น แถมถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ช่วงที่ยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเอง กระทั่งเด็กวัยเรียนหรือวัยรุ่น การบอกพ่อแม่ว่ารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตรงไหน บางครั้งก็ยังยากกว่าตั้งสเตตัสบอกเพื่อนเสียอีก เป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา 

มาๆ ล้อมวงเข้ามา สารพัดจะจารนัยไม่หวาดไม่ไหว ว่าเด็กๆ ของเราวันนี้ ความสำคัญและจำเป็นขนาดไหนที่ต้องไปขอรับการตรวจสุขภาพให้เหมาะสมของเด็กตั้งแต่ 0-18 ปี กับแต่ละช่วงวัยบ้าง มีดังนี้

 

  • ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปและการเจริญเติบโต

เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็ก      ยิ่งจำเป็นต้องตรวจละเอียดเป็นพิเศษ เช่น สัญญาณชีพ  อุณหภูมิร่างกาย  ความดันโลหิต  ชีพจร การหายใจ น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบศีรษะของทารกในช่วง 2 ปีแรก 

  • ประเมินภาวะโภชนาการ

ตรวจได้ทั้งจากการเจริญเติบโต สัดส่วนร่างกาย การประเมินผลจากอวัยวะส่วนต่างๆ  เพื่อพิจารณาว่าเด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอหรือไม่

  • ประเมินพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์

เด็กไทยวันนี้ 1 ใน 3 มีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กเล็กทุกคนจึงควรได้รับการประเมินคัดกรองพัฒนาการ 3 ครั้ง (อายุ 9, 18, 24-30 เดือน) เพื่อให้เด็กได้รับการคัดกรองและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ หรือหากิจกรรมช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงเด็กปกติได้

  • ตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน

ครึ่งหนึ่งของเด็กไทยมีปัญหาฟันผุ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรับประทานอาหารของเด็ก  ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่และมีพัฒนาการไม่ดี เด็กๆ เริ่มตั้งแต่วัย 1 ขวบปีแรก จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพของช่องปากและฟันเป็นประจำ  เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพปากและฟันของลูกน้อยอย่างถูกวิธี 

  • ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน

ควรตรวจตั้งแต่แรกเกิด (ในช่วง 1-2 เดือนแรก)  เพราะปัญหานี้ส่งผลเสียร้ายแรงคือจะทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งหากมีความรุนแรงไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจทำให้เกิดความพิการทางสมองและเกิดภาวะปัญญาอ่อนตามมา

  • ตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือภาวะการขาดธาตุเหล็ก

เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด  ในช่วงวัย 6-9 เดือน  ซึ่งเป็นช่วงที่สารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียว เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 1 ใน 4 ของเด็กไทยมักมีปัญหาขาดธาตุเหล็ก    ทำให้เกิดภาวะซีด IQ ต่ำ

  • ตรวจการได้ยิน

เด็กแรกเกิด - 6 เดือน ควรได้รับการตรวจประเมินการได้ยิน 1 ครั้ง หากเด็กบกพร่องในการได้ยิน จะส่งผลให้มีปัญหาไม่พูดหรือพูดช้า และพัฒนาการด้านภาษาจะไม่ถูกกระตุ้น การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะได้ รับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาที่เหมาะสม โดยการใส่เครื่องช่วยฟัง และได้รับการฟื้นฟูด้านอื่นๆ ต่อไป

  • ตรวจสายตา

เด็กควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเข้าโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีสายตาที่ดีพร้อมสำหรับการเรียนรู้ให้ทันเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หากเด็กที่มีปัญหาสายตาและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียง อาจลุกลามไปเป็น “ตาขี้เกียจ” และส่งผลให้สายตาพิการตลอดชีวิตได้

  • กลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง

เช่น  ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือความดัน เด็กควรได้รับการตรวจเลือดและร่างกายเพิ่มจากรายการตรวจปกติ ในช่วงอายุประมาณ 2-4 ขวบ และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อลูกเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

  • เด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์

เช่น  เด็กผู้หญิงมีเต้านมตั้งแต่ 8 ขวบ  หรือเด็กผู้ชายอายุประมาณ 13-14 ปี  แต่เสียงยังไม่แตก  ยังไม่ฝันเปียก  หรือยังไม่มีขนบริเวณหัวหน่าวและรักแร้  ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

  • เด็กวัยรุ่น

เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เริ่มมีประจำเดือน มีขนาดหน้าอกเพิ่มขึ้นในเด็กหญิง เริ่มมีความรัก อารมณ์จะมีอิทธิพลกับสุขภาพร่างกายด้วย ซึ่งควรได้รับการประเมินและให้คำแนะนำด้านการเรียน ความรับผิดชอบ การเล่น การใช้เวลาว่าง การควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการปรับตัวในโรงเรียน และการประเมินพฤติกรรมเสี่ยงด้านเพศ บุหรี่ สุรา ยาเสพติด

นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจหาความสมบรูณ์ของเม็ดเลือด ตรวจหาระดับไขมันในเลือดแล้ว การตรวจสุขภาพในช่วงวัยรุ่นนี้ จึงควรตรวจร่างกายตามระบบ เช่น ดูรอยสิว รอยสัก รอยเจาะ ดูการโค้งงอของสันหลัง และดูความเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและพัฒนาการด้านสังคม มนุษยสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นด้วย

จะเห็นได้ว่า การตรวจสุขภาพนั้นสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่อาจจะเน้นไปที่การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวและค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง แต่กรณีของเด็กและวัยรุ่นนั้น จะเป็นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการตรวจการเจริญเติบโตของร่างกายและประเมินพัฒนาการว่าเหมาะสมและเป็นไปตามวัยหรือไม่­ เพื่อจะได้ทราบและหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์  http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์) และ http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)