• คนวัยทำงานเป็นวัยที่มีความเครียดสะสมมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการมีปัญหาสุขภาพ จึงเป็นวัยที่ต้องเข้ารับบริการตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง
  • การตรวจสุขภาพคนวัยทำงาน ควรเป็นการตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะคนที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โดยเฉพาะเกิดในชายอายุน้อยกว่า 55 ปี และหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี หรือมีสมาชิกหลายคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว
  • ควรมีการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ วัดความดันโลหิต เพื่อตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง ตรวจฟังเสียงหัวใจผิดปกติ ตับม้ามโต ภาวะบวม ตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตรวจการได้ยิน ปีละ 1 ครั้ง ตรวจตา ปีละ 1 ครั้ง
  • ผู้หญิงในช่วงอายุ 30-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุก ๆ 3 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วย Pap’s smear ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี

 

 

 

วัยทำงานเป็นวัยที่มีความเครียดสะสมมากที่สุด เพราะเป็นช่วงวัยที่มีปรับตัวสูง ยิ่งถ้ามีครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ก็เท่ากับแบกรับความกดดันทั้งจากส่วนตัวและบุคคลในครอบครัว มีเวลาในการดูแลสุขอนามัยน้อยลง รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ นอนก็ไม่เป็นเวลา ขับรถออกจากบ้านมารถติดจนต้องอั้นปัสสาวะ ไปถึงออฟฟิศก็นั่งหน้ามุ่ยอยู่กับจอสี่เหลี่ยมทั้งวัน ตกเย็น แทนที่จะได้ไปออกกำลังกาย... เพื่อนก็ดันมาลากไปแฮงค์เอ้าท์เม้าท์มอยเจ้านายที่ไม่ยอมจ่ายโบนัสเสียอีก

เฮ้อ แค่ฟังก็ปวดตับ พอจะขยับก็ร่างพัง ทั้งๆ ที่คนวัยนี้เป็นวัยที่เป็นกำลังหลักของ แต่กลับเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการมีปัญหาสุขภาพ และกล่าวได้ว่า เป็นวัยที่ต้องเข้ารับบริการตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง ตามรายละเอียดชนิดรายการยาวเป็นหางว่าว ลองมาดูกันสิว่ามีอะไรบ้าง

  • การซักประวัติ

เป็นการคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะคนที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โดยเฉพาะชายอายุน้อยกว่า 55 ปี และหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี หรือมีสมาชิกหลายคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว เนื่องจากเป็นโรคที่อาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

  • การตรวจร่างกายทั่วไป

เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อการประเมินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ วัดความดันโลหิต เพื่อตรวจ     คัดกรองโรคความดันโลหิตสูง ตรวจฟังเสียงหัวใจผิดปกติ ตับม้ามโตว่าโตผิดปกติ หรือมีภาวะบวม หรือไม่ เป็นต้น

  • ตรวจสุขภาพช่องปาก

ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

  • ตรวจการได้ยิน

คนที่ทำงานหรืออยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรได้รับการตรวจการได้ยินเบื้องต้นด้วยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ถูกันเบาๆ ห่างจากรูหูประมาณ 1 นิ้ว ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหากพบภาวะผิดปกติจะได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาด้านการได้ยินจะส่งผลด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม

  • ทำแบบประเมินสภาวะสุขภาพ

เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของการประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือด ภายใน 10 ปีข้างหน้า ภาวะซึมเศร้า การติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ (ประเมินเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่) การดื่มแอลกอฮอล์ (ประเมินเฉพาะผู้ที่ดื่ม) การใช้ยาและสารเสพติด (ประเมินเฉพาะผู้ที่ใช้ยาและสารเสพติด)

  • การตรวจตา

สำหรับคนวัยทำงานที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดสายตาและตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง และความผิดปกติอื่น ๆ โดยทีมจักษุแพทย์ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)

            คนที่มีช่วงอายุ 18-60 ปี ควรได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยในการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง รวมทั้งอาจตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดผิดปกติ ถ้าหากเคยตรวจพบว่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำอีก

  • ตรวจระดับไขมันในเลือด

        สำหรับคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือมีสมาชิกในครอบครัวหลายคนเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน สำหรับบุคคลที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี

  • ตรวจอุจจาระ

สำหรับบุคคลตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง

  • ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)

เฉพาะคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ควรได้รับการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) โดยตรวจเพียงครั้งเดียว

  • การตรวจสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับเพศหญิง

ตรวจเต้านม ผู้หญิงในช่วงอายุ 30-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุก ๆ 3 ปี จากแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ที่ได้รับการฝึกอบรม และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วย Pap’s smear ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี ทว่าหากมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยวิธี Pap’s smear เท่านั้น

สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป และมีผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ก็ให้หยุดตรวจได้ หรือขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ตรวจสุขภาพแล้ว ก็อย่าลืมดูแลตัวเอง ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยง  รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่   ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้สุขภาพพังก่อนวัยอันควร

ปัจจุบัน ประชาชนทุกคน สามารถไปใช้บริการการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์  http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์) และ http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)  หรือค้นหารายการตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://www.healthcheckup.in.th