การตรวจสุขภาพที่ไม่พอดีและไม่เหมาะสมกับตัวเองนั้น เกิดจากการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็น นั่นคือตรวจทุกอย่างที่อยากตรวจ หรือที่โรงพยาบาลสามารถตรวจให้ได้ ซึ่งนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อรางกายด้วย ได้แก่
- การเอกซเรย์ปอด โดยไม่จำเป็นในคนปกติ นอกจากไม่ได้ประโยชน์ในการคัดกรองโรคแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงจากการได้รับรังสี ซึ่งหากมีการสัมผัสรังสีบ่อยๆ ก็อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
- การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจระดับสารพีเอสเอ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ให้ผลบวกลวงสูง นั่นคือ ผลการตรวจออกมาว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็น อาจะแค่ต่อมลูกหมากโต ซึ่งไม่ใช่โรคร้ายแรง และจากผลการตรวจทำให้แพทย์จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่ซับซ้อน (เช่น การตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์) ต่อไป ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่มีอันตราย (เช่น เลือดออก ติดเชื้อ) ตามมาได้
- การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด ผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงโดยที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นโรคเกาต์ จึงไม่แนะนำให้ตรวจกรดยูริกในเลือดสำหรับคนปกติทั่วไป เพราะอาจได้ยาลดกรดยูริกโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การตรวจระดับบียูเอ็น (BUN) ในเลือด
- การตรวจเอนไซม์ตับดูความผิดปกติของตับ
- การตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) ในเลือด