• ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่ง มักมีปัญหาเรื่องโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก 1 ครั้ง จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  • ผู้ที่อายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจตาโดยทีมจักษุแพทย์ทุก 2-4 ปี แต่จะเพิ่มความถี่เป็นทุก 1-2 ปี หลังอายุ 65 ปีขึ้นไป เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคทางตาได้แต่เนิ่นๆ เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม และจะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม รวมทั้ง การป้องกันอุบัติเหตุจากการมองเห็น
  • ผู้สูงอายุไทยแต่ละช่วงวัย มักประสบปัญหาภาวะซีด ร้อยละ 16.5-62.61 ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก รองลงมาคือ การขาดโฟเลตและวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ทุกปี เพื่อคัดกรองภาวะซีด
  • ผู้สูงวัยเพศหญิง ควรได้รับการตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap smear ทุกๆ      3 ปี ส่วนผู้หญิงวัย 60-69 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี

 

 “โอ๊ย ไม่ไปหรอก ไม่เอาๆ”

บ้านไหน บ้านนั้น รับรองเหมือนกันหมด ก็จะอะไรเสียอีกเล่า ถ้าไม่ใช่การต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่คุณตาคุณยาย ให้ยอมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล เพราะร้อยทั้งร้อยมักจะหันมาขยับไม้ตะพด ทำตาดุๆ แล้วพูดสวนมาทันทีว่า

“ฉันไม่ได้เป็นอะไร ทำไมต้องไปหาหมอ !!” (ปัง ! ตามมาด้วยเสียงกระแทกไม้จนลูกหลานคอหดกันเป็นแถว)

สิ่งที่ต้องอธิบายให้ผู้สูงอายุ วัยเกิน 60 ปีขึ้นไปเข้าใจ ก็คือการที่ร่างกายของคนเรา ย่อมมีวันเสื่อมถอยลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็ไม่เหมือนเดิม จะให้แข็งแรงเหมือนสมัยยังหนุ่มยังสาวก็คงเป็นไปไม่ได้ พอกายไม่สบาย จิตใจก็มีปัญหาตามมา กลายเป็นคนแก่เจ้าอารมณ์จนคนทั้งบ้านเข้าหน้าไม่ติดไปซะอีก  

“อ๊ะๆ อ๊ะๆ คุณตาคุณยายยังไม่รู้ละเซ่ ว่าคนสมัยนี้ถึงไม่เป็นอะไร เขาก็ไปตรวจสุขภาพกันทั้งนั้น”

ข้อดีของการตรวจสุขภาพนั้นมีมหาศาลมากมาย ที่แน่ๆคือทำให้เรารับมือกับโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่การตรวจสุขภาพ จะทำให้เราตรวจพบโรคและการรักษาโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยให้ควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พอ คุณ สว. ท่านกำลังสนใจฟังทำตาปริบๆ เราก็ต้องรีบกางโฉนดให้ท่านดูว่า ในคนสูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป เขาต้องตรวจอะไรกันบ้างที่จำเป็นและเหมาะสม

  • เริ่มจากการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป
    เช่น ซักถามประวัติทางการแพทย์ การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย มีอาการเบื่ออาหารไหม น้ำหนักขึ้นหรือลด ขับถ่ายปกติไหม ออกกำลังกายสม่ำเสมอแค่ไหน การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน การทรงตัว หู ตา ช่องปาก ยังดีอยู่ไหม
  • ตรวจสุขภาพในช่องปาก
    ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่ง มักมีปัญหาเรื่องโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก ผู้สูงอายุ 60-74 ปี ร้อยละ 88.3 มีการสูญเสียฟันบางส่วน และร้อยละ 7.2 สูญเสียฟันทั้งปาก  การตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการขาดสารอาหารตามมา รวมทั้ง มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  • การตรวจทางหู
    ผู้สูงอายุบ้านเรา มีภาวะหูหนวก หูตึง สูงถึง 25-35% ตัวเลขนี้ยังมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ส่วนใหญ่เกิดจาก ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ หรือ จากการอยู่ในที่มีเสียงดังมาก ๆ รวมทั้งหูตึงเพราะมีขี้หูไปอุดกั้นที่หูชั้นนอก
  • การตรวจตา
    ผู้ที่อายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจตาโดยทีมจักษุแพทย์ทุก 2-4 ปี แต่จะเพิ่มความถี่เป็นทุก 1-2 ปี หลังอายุ 65 ปีขึ้นไป เพื่อคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม การตรวจพบภาวะผิดปกติได้เร็ว จะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม รวมทั้ง การป้องกันอุบัติเหตุจากการมองเห็น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    ผู้สูงอายุในประเทศไทยแต่ละช่วงวัย พบปัญหาภาวะซีด สูงถึง ร้อยละ 16.5-62.61 ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก รองลงมาคือ การขาดโฟเลตและวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ทุกปี เพื่อคัดกรองภาวะซีด และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด
    สำหรับบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีสมาชิกในครอบครัวหลายคนเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
    เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน สำหรับบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกปีในผู้สูงอายุ
  • ตรวจปัสสาวะ
    การตรวจปัสสาวะมีประโยชน์ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโอกาสพบความผิดปกติอื่นๆ ได้จากการตรวจปัสสาวะ  จึงแนะนำให้ตรวจปัสสาวะสำหรับบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง
  • การตรวจการทำงานไต
    เพื่อดูสมรรถภาพการทำงานของไต สำหรับบุคคลตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ตรวจอุจจาระ
    สำหรับบุคคลตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง
  • กระดูกพรุน
    เป็นโรคที่พบมากที่สุดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 20 ที่อันตรายคือโรคกระดูกพุรนเป็นภัยเงียบ ไม่มีอาการหรือสัญญาณใดๆ บอกเตือนก่อน ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์และรู้ว่าเป็นก็ต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว ซึ่งถ้าตรวจพบแต่แรกก็สามารถป้องกันและรักษาได้ผลดีกว่า
  • โรคซึมเศร้า
    เป็นโรคที่คุณหมอใช้คำว่า “พบได้บ่อยมาก” และยังพบอีกด้วยว่า คนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมากกว่า ร้อยละ 90.1 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต  การได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนรุ่นราวคราวเดียวกันบ่อยๆ การถูกลดบทบาทความสำคัญลง ต้องพึ่งพิงลูกหลานตลอดเวลา บางคนอยู่ในสภาพ ถูกทิ้งให้เหงาอยู่บ้าน เบื่อ หดหู่ หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ รู้สึกไร้ค่า จนถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง  การคัดกรองและได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
  • การตรวจภาวะสมองเสื่อม
    ปัญหาภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมองที่พบมากในผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่ง 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ สาเหตุมาจากเรื่องอายุที่มากขึ้นและจากพันธุกรรม รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง คนที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 20% และผู้ที่มีอายุมากเกิน 90 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้นถึง 50% แต่การตรวจสุขภาพจะทำให้แพทย์สามารถตรวจพบภาวะดังกล่าวได้แต่เนิ่นๆ และถ้าอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองด้วย
  • การตรวจสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับผู้สูงวัยเพศหญิง
    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้สูงอายุหญิง เพื่อค้นหาก้อนเนื้องอกผิดปกติที่อาจพบได้ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้สูงอายุสตรีที่ไม่เคยได้รับการตรวจเซลของปากมดลูก (Pap’s Smear) ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยหนึ่งครั้ง อายุ 60-64 65 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Pap smear ทุก ๆ 3 ปี หลังจากอายุ 65 ปีไปแล้ว ถ้าไปตรวจสม่ำเสมอและผลเป็นปกติติดต่อกัน 10 ปี ก็สามารถหยุดตรวจได้

 

ผู้หญิงวัย 60-69 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี โดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม แต่ถ้าอายุ 70 ปีขึ้นไปแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อาจให้เข้ารับการตรวจตามความเสี่ยง

อยากเป็น สว สดใส ต้องใส่ใจตรวจสุขภาพ สนใจไปใช้บริการได้ ที่โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์  http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์) และ http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)