ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้มีอายตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายไปในทางเสื่อมถอยลงของอวัยวะต่างๆ ทั้งที่มองเห็นได้ชัดเจนและไม่ค่อยชัดเจน และผู้สูงวัยแต่ละคนจะมีความแตกต่างของสภาพร่างกายไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมสุขภาพ และแบบแผนการใช้ชีวิตที่ผ่านมาที่มีการสะสมและส่งผลกระทบโดยรวมเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ โดยความเสื่อมบางอย่างเมื่อเสื่อมแล้วไม่สามารถทดแทนให้ดีดังเดิม ซึ่งอาจส่งผลถึงต่อความรู้สึก อารมณ์ สภาพจิตใจของผู้สูงวัยได้ เช่นความเสื่อมสมรรถภาพทางกายมักส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเป็นบุคคลไร้ค่า ต้องพึ่งพาผู้อื่น ด้านสติปัญญาจะพบว่าเริ่มมีปัญหาด้านความจำเสื่อม หลงลืม

     การช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น การมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จากการได้รับอาหารและการพักผ่อนที่เพียงพอ มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม อยู่ในสังคมที่อบอุ่น จะช่วยให้มีจิตใจและอารมณ์ที่เบิกบานมีความสุข

     สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยในการดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ การประเมินสภาวะสุขภาพ และการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากความผิดปกติของร่างกายบางอย่างไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่อาจส่งผลกระทบเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมา หรือหากรอให้มีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้การรักษายุ่งยากหรือสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น หรือ อาการของโรครุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้

การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • การซักประวัติ : โรค/ความผิดปกติที่เคยเป็น การักษาพยาบาลที่เคยได้รับ ประวัติการฉีดวัคซีนบาดทะยักเข็มสุดท้าย พฤติกรรมสุขภาพ (การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา) ประวัติครอบครัว การทำงานและสภาวะแวดล้อม การสัมผัสสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร งานอดิเรก เป็นต้น
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดเส้นรอบเอว ตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร
  • แบบประเมินสภาวะสุขภาพ : การคัดกรองโรคซึมเศร้าด้วย 2 คำถาม การประเมินโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด การประเมินภาวะโภชนาการ การคัดกรองภาวะกระดูกพรุน การประเมินภาวะสมองเสื่อม การประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน การประเมินระดับการติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ การประเมินปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ การคัดกรองการติดยาและสารเสพติด
  • การได้ยิน ด้วยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ถูกันเบาๆ ห่างจากรูหูประมาณ 1 นิ้ว ถ้าไม่ได้ตรวจมานานเกิน 1 ปี
  • การสุขภาพช่องปากและฟัน การตรวจช่องปากและฟันมีประโยชน์มากในผู้สูงอายุ เพราะทำให้ทราบถึงความผิดปรกติต่างๆ ได้ เช่น ไม่มีฟัน เหงือกร่น โรคฟันและเหงือก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุภาวะโภชนาการบกพร่อง นอกจากนี้ การติดเชื้อในช่องปากยังอาจส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อไปส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบ โรคหัวใจ ได้อีกด้วย ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันโดยทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลเป็นประจำทุกปี
  • การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน แนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข เพื่อทำการประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนด้วยการใช้แบบประเมินภาวะกระดูกพรุน
  • การตรวจตา โดยทีมจักษุแพทย์ ถ้าไม่ได้ตรวจมานานเกิน 1 ปี
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยการตรวจอุจจาระ (Fecal occult blood test) ถ้าไม่ได้ตรวจมานานเกิน 1 ปี
  • การตรวจทางห้องปฎิบัติการที่จำเป็นและเหมาะสม
    1. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกปี
    2. ตรวจระดับครีอะทินีน (creatinine) ในเลือด เพื่อคัดกรองความผิดปรกติของไต ทุกปี
    3. ตรวจปัสสาวะ ทุกปี
    4. ตรวจระดับไขมันในเลือด ถ้าไม่ได้ตรวจมานานเกิน 5 ปี
    5. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ถ้าไม่เคยตรวจมาก่อน
    6. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ (FOBT) ทุกปี

     โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาทและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ส่วนใหญ่จะมีความพิการตามมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ภาพลักษณ์ ภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นภาระในการดูแลของครอบครัว พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่าเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ

     โรคหลอดเลือดสมอง มี 2 ประเภท คือ

  • โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองขาดเลือด พบประมาณ ร้อยละ 75-80
  • โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการมีเลือดออกในสมอง พบประมาณ ร้อยละ 20-25

     ปัจจุบันความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองได้พัฒนาไปมาก ทั้งการป้องกัน การตรวจวินิจฉัย ตลอดจนการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยลดอัตราตายและความพิการตลอดจนภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้ โดยญาติหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุควรรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากพบความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยอาการอาจแตกต่างกันตามตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน โดยมีอาการเตือนที่สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ใน 5 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เช่น มีอาการชาหรืออ่อนแรงแขนขาหรือใบหน้า ส่วนใหญ่มักเป็นที่ร่างกายเพียงซีกใดซีกหนึ่ง
  2. การมองเห็นผิดปกติ เช่น ตามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นทันที
  3. การพูดผิดปกติ เช่น พูดลำบาก พูดตะกุกตะกัก หรือพูดไม่ได้ หรือไม่เข้าใจคำพูด
  4. เวียนศีรษะ มีอาการมึนงง บ้านหมุน หรือเดินเซ เสียการทรงตัว
  5. มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงทันทีโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน และไม่เคยเป็นมาก่อน