หนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเอง (Autoimmune disorder) ที่ส่งผลให้การสั่งการของระบบประสาทสู่กล้ามเนื้อผิดปกติ และเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในที่สุด โรคนี้เรียกว่า ไมแอสทีเนีย เกรวิส ในประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 2 – 3 รายต่อประชากรหนึ่งแสนราย โดยพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชายเกือบสองเท่าตัว และมักพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ ประมาณ 40 – 60 ปี แต่อาจเกิดในวัย 20 – 40 ปีได้เช่นกัน แม้จะพบได้น้อยกว่าก็ตาม

         อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของโรคไมแอสทีเนีย เกรวิส มักมีระดับความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเปลี่ยนไประหว่างวัน เช่น ช่วงเช้าหลังตื่นนอน มักมีอาการอ่อนแรงน้อยกว่า แต่เมื่อช่วงเวลาหลังเลิกงาน กลับอ่อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งพักผ่อนจึงจะดีขึ้น

         อาการอ่อนแรงอาจเริ่มชัดเจนหลังจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ภายหลังการติดเชื้อ การผ่าตัด การได้รับวัคซีน ความร้อน ความเครียด การตั้งครรภ์ การเริ่มใช้ยารักษาโรคบางชนิด และอาจเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ

อาการที่พบบ่อยได้แก่

  1. การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขยับลูกตา เกิดใน 85% ของผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้มีอาการเห็นภาพซ้อน และหนังตาตกได้
  2. การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหน้า กล้ามเนื้อสำหรับเคี้ยว กลืน และออกเสียง เกิดในประมาณ 15% ของผู้ป่วย ทำให้มีอาการเคี้ยวและกลืนลำบาก สำลักบ่อย พูดไม่ชัด เสียงแหบ ใบหน้าไร้อารมณ์ และอาจอ่อนแรงถึงลำคอได้
  3. แขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวส่วนใหญ่จะอ่อนแรงแขนมากกว่าขา และต้นแขนต้นขามากกว่าส่วนปลาย
  4. อาการรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อสำคัญต่อการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครงอ่อนแรง ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก หายใจเองไม่ได้ และต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน

การรักษา

  • ทุกวันนี้ ผู้ป่วยไมแอสทีเนีย เกรวิส มีอาการเทียบเท่าคนปกติได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างจากกเมื่อห้าสิบปีที่แล้วที่อัตราตายสูงถึงร้อยละ 50 – 80 เมื่อเกิดอาการรุนแรง ปัจจุบันอัตราตายเหลือเพียงร้อยละ 4.47 ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด
  • ยารักษาส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ยาเสริมสร้างการทำงานของสารสื่อประสาทที่สั่งการกล้ามเนื้อ และยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงได้ เช่น กระดูกบาง น้ำหนักเพิ่ม เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การเกิดโรคเบาหวาน
  • ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกของต่อมไทมัสเกี่ยวข้องร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดต่อมไทมัส

ปัจจุบันมีการรักษาทางเลือกที่แพทย์อาจพิจารณา เช่น การฟอกเลือด การให้สารอิมมูโนโกลบูลิน