ปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกกำลังรับมือกับกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส คลุกคลี ตัวนำโรค หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากแต่เกิดจากวิธีการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารหวานมันเค็มจัด มีภาวะอ้วน ลงพุง และที่สำคัญคือ ใช้ชีวิตด้วยความเครียดเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันมีคนป่วยและเสียชีวิต เพราะโรคนี้ปีละเกือบ 40 ล้านคน
พูดง่ายๆ ว่านี่คือ “โรคทำตัวเอง” แทบทั้งนั้น โดยเฉพาะเป็นภัยเงียบที่คุกคามคนวัยทำงาน (อายุระหว่าง 18-60 ปี) เป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการมีปัญหาสุขภาพ เพราะมักมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งการกิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และการทำงาน ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำในคนวัยนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถตรวจคัดกรองและค้นหาความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในตัว ก่อนที่จะลุกลามจนแสดงอาการและนำไปสู่การสูญเสีย ทั้งทางด้านสุขอนามัยและด้านเศรษฐกิจ
รายการตรวจของคนวัยนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อประเมินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ วัดความดันโลหิต เพื่อตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง และตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการซักประวัติเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โดยเฉพาะในชายอายุน้อยกว่า 55 ปี และหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็น โรคดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการตรวจการทำงานระบบต่างๆ เช่น ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจการได้ยิน ตรวจการมองเห็น รวมทั้ง มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง การตรวจระดับไขมันในเลือด เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด การตรวจระดับน้ำตาล เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน แต่ในกรณีของเพศหญิง ถ้าเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะเคยหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม ก็ต้องได้รับการตรวจเต้านม และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
อย่าลืมว่าการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญกับทุกคน โดยเฉพาะในวัยทำงานที่เป็นกำลังหลักด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ที่ควรได้รับการตรวจที่เหมาะสมกับช่วงวัย ผู้ที่พบภาวะผิดปกติควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ในผู้ที่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม จะช่วยให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงอย่างยั่งยืน โดยสามารถติดต่อใช้บริการได้ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง หรือสามารถเช็กรายการตรวจสุขภาพด้วยตัวเองได้ที่ www.healthcheckup.in.th