- ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการตรวจสุขภาพตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงและภาวะผิดปกติ
- การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมนั้น เป็นเพียงการตรวจพื้นฐานทั่วไป เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย ตรวจร่างกายทั่วไป สำหรับผู้หญิงก็จะมีการแนะนำเรื่องการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และการตรวจภายใน การตรวจแล็บหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในบางรายการที่จำเป็นและเหมาะสม และการตรวจบางรายการ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเสมอไป
- ผู้ที่จะไปตรวจสุขภาพ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ ควรนำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย สำหรับสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
- การตรวจสุขภาพ หมายถึงการตรวจร่างกายในภาวะที่เรายังมีสุขภาพเป็นปกติ ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ และไม่ได้เป็นการตรวจเพื่อมุ่งหาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะตามที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด
การตรวจสุขภาพ ในความหมายที่ถูกต้องนั้น หมายถึง การตรวจร่างกายในภาวะที่เรายังมีสุขภาพเป็นปกติ ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ และไม่ได้เป็นการตรวจเพื่อมุ่งหาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะตามที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด
สาเหตุที่คนเราต้องตรวจสุขภาพตามระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น ก็เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง และภาวะผิดปกติ เพื่อหาแนวทางป้องกัน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือไม่ให้โรคที่เป็นอยู่ลุกลามมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าตรวจพบก็จะช่วยยับยั้งความรุนแรงของ “ภัยเงียบ” ที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเรา โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
แต่สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยปรากฏให้เห็นบ้างแล้วจึงไปตรวจ ไม่ถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพ แต่เรียกว่าเป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยโปรแกรมการตรวจร่างกายนั้น อาจต้องมีการตรวจแล็บหรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเพื่อยืนยันผล จะได้นำไปสู่การรักษาอย่างเหมาะสมในขั้นตอนต่อไป
การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วไปนั้น จึงเป็นการตรวจสุขภาพตามหลักวิชาการโดยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจะเน้นซักถามประวัติสุขภาพ ประวัติการเจ็บป่วยเป็นโรคในครอบครัวเพื่อค้นหาโรคทางพันธุกรรม ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการใช้ยา และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นเพียงการตรวจพื้นฐานทั่วไป เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย ตรวจร่างกายทั่วไป สำหรับผู้หญิงก็จะมีการแนะนำเรื่องการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และการตรวจภายใน การตรวจแล็บ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในบางรายการที่จำเป็นและเหมาะสม และการตรวจบางรายการก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเสมอไป
คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข ยังได้แบ่งหลักเกณฑ์ของการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ตามช่วงอายุของประชาชนที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพจำแนก 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี)
2. กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 18-60 ปี)
3. กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
4. กลุ่มหญิงมีครรภ์
การตรวจสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น ผู้ที่จะไปตรวจควรมีเตรียมตัวในเบื้องต้น ดังนี้
1.ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะการอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่
2.งดอาหารและเครื่องดื่ม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนตรวจ ผู้ตรวจสามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อยในกรณีที่กระหายน้ำมาก
3.หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ ควรนำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
4.สำหรับสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ ถ้าตรวจภายในสำหรับผู้หญิงควรสวมใส่กระโปรง
5. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเต้านมมีความคัดตึง ควรตรวจหลังมีประจำเดือน สำหรับผู้หญิงที่ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการเอกซเรย์
อย่าลืมว่า การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น เป็นการมุ่งให้ผู้ถูกตรวจรู้จักวิธีดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งหลังจากการตรวจสุขภาพทุกครั้ง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เช่น ถ้าตรวจสุขภาพแล้วไม่ป่วย แข็งแรงดี ก็ควรรู้วิธีที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น หรือตรวจแล้วพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรรู้วิธีการหลีกเลี่ยงและหันกลับมาดูแลตัวเอง เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำตาล เป็นต้น
ปัจจุบัน ประชาชนทุกคน สามารถไปใช้บริการการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์ http://www.dms.moph.go.th/imrta/ (สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์) และ http://www.dms.moph.go.th (กรมการแพทย์)